ไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจ จ.สมุทรสาคร


ไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจสมุทรสาคร 2554

กำหนดการจัดงาน : วันที่ 26 กันยายน – 5 ตุลาคม 2554

สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร และศาลเจ้า 9 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร

รายละเอียด

จังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับเทศบาลนครสมุทรสาคร , ศาลเจ้า 9 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ชมรมร้านอาหารเจสมุทรสาคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม กำหนดจัดงาน “ประเพณีไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจสมุทรสาคร ประจำปี 2554” ณ บริเวณ ริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร และศาลเจ้า 9 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร


จังหวัดสมุทรสาครเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการสืบทอดประเพณีการถือศีลกินเจ มาอย่างยาวนาน และยังได้สร้างศาลเจ้า ขึ้นไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอีกหลายแห่งจึงกำหนดจัดงาน “ประเพณีไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจสมุทรสาคร” เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ได้จัดกิจกรรมพิเศษ โดยจัดทำพาสสปอร์ตท่องเที่ยวไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจสมุทรสาครขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประวัติและพิธีการไหว้ของศาลทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร , โรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร , ศาลเจ้าปุนเถ้ากง คลองมหาชัย , ศาลเจ้าแม่กวนอิมพันมือ คลองจาก , ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย , โรงเจเชงเฮียงตั๊ว , ศาลเจ้าพ่อกวนอู , ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ท่าฉลอม , พระโพธิสัตว์กวนอิม ท่าฉลอม และนักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรม โดยการประทับตราสัญลักษณ์ศาลเจ้าให้ครบทั้ง 9 ศาล และนำ พาสสปอร์ตฯ ไปรับเหรียญพระโพธิสัตว์กวนอิม เพื่อความเป็นสิริมงคลได้ที่อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม ท่าฉลอม อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานสามารถเลือกซื้ออาหารเจที่อร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย จากชมรมร้านอาหารเจกว่า 50 ร้าน ณ บริเวณริมเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร มีการผัดหมี่มหามงคล 9 มังกร แจกฟรี


จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวทุกท่านร่วมงานดังกล่าว สำหรับการไหว้เจ้า 9 ศาล สามารถเดินทางมาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

ทำความรู้จักกับทั้ง 9 ศาล
1. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครต.มหาชัย อ.เมืองฯ
เจ้าพ่อหลักเมือง เป็นแผ่นไม้รูปเจว็ด ขนาดสูงประมาณ 1 เมตร เรียกว่าเทพเจ้าจอมเมือง เป็นรูปเทวดาหัตถ์ขวายกประทานพร หัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ มีกุมารน้อย 2 คน เป็นบริวารอยู่ด้านข้าง มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า แผ่นไม้สลักนี้ลอยน้ำผ่านคลองมหาชัย ชาวบ้านได้อัญเชิญขึ้นสักการะสร้างเป็นศาลเล็กๆ ไว้ที่ป้อมวิเชียรโชฏกเรียกศาลเทพเจ้าจอมเมือง ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาสร้างอาคารทรงไทยใน พ.ศ. 2460 แต่อาคารนี้ถูกรื้อหลังการก่อสร้างศาลหลักเมืองใน พ.ศ. 2525 เชิญเจ้าพ่อหลักเมืองไปประดิษฐานบนด้านเหนือศาลหลักเมือง แต่มีการประทับทรงเจ้าพ่อวิเชียรโชติ จึงสร้างอาคารใหม่เป็นศิลปกรรมจีนสวยงามมาก เป็นที่นับถือกราบไหว้ของชาวไทย ชาวจีน โดยเฉพาะชาวประมงมักขอพรบนบานขอให้ทำกิจการปลอดภัยและร่ำรวย จะมีการแก้บนด้วยฝิ่นเสมอ โดยนำมาป้ายที่บริเวณปาก ส่วนศาลหลักเมืองอยู่ถัดออกไป เป็นหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่

2. โรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร
เดิมทีพื้นที่ของโรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร เป็นโรงเรียนจีน พอมาในยุคสมัยที่รัฐบาลไทยมีกฎหมายบังคับให้โรงเรียนทุกแห่งเปิดสอนได้เพียงภาษาไทยเท่านั้น โรงเรียนจีนแห่งนี้ได้ปิดตัวลง และพื้นที่นี้ได้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ดังนั้นจึงได้มีการจัดสร้างสถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นโรงเจ โดยเงินที่นำมาทำการจัดสร้างนั้นมาจากการบริจาคการล้างป่าช้า ดังนั้นจึงได้จัดตั้งโรงเจขึ้น โดยใช้ชื่อว่าโรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร และทุกปีเมื่อถึงเทศกาลกินเจ ชาวไทยเชื้อสายจีนในฝั่งมหาชัยก็จะมาร่วมปฏิบัติธรรมในเทศกาลกินเจ ณ โรงเจแห่งนี้

3. ศาลเจ้าปุนเถ้ากง (คลองมหาชัย)
ศาลเจ้าปุนเถ้ากง คลองมหาชัย ได้มีการจัดสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลานับร้อยปี สมัยก่อนสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวประมงและชุมชนในพื้นที่ เสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยสร้างเป็นศาลไม้เล็กๆ และภายหลังได้มีการบูรณะศาลใหม่ โดยก่ออิฐถือปูนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว และศาลเจ้าปุนเถ้ากงแห่งนี้มีการจัดงานเฉลิมฉลองศาลเจ้าปีละ 3 ครั้ง โดยมีในเดือนกุมภาพันธ์ สิงหาคม และพฤศจิกายนของทุกปี

4. ศาลเจ้าแม่กวนอิมพันมือคลองจาก
ศาลแห่งนี้สร้างมานานกว่า 20 ปี ในอดีตเป็นศาลเจ้าสร้างด้วยไม้หลังเล็กๆ ธรรมดาที่ปลูกสร้างเพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้เคารพสักการบูชา แต่เมื่อประมาณ พ.ศ.2548 ได้มีการจัดสร้างศาลเจ้าใหม่ขึ้น เนื่องจากศาลเก่าเกิดการชำรุดเสียหาย จึงได้มีการบูรณะจัดสร้างศาลใหม่ขึ้นและให้มีการอัญเชิญรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมพันมือมาประดิษฐานภายในศาลเจ้า และการออกแบบก่อสร้างนั้น ทางคณะผู้จัดสร้างได้ออกแบบให้ศาลดังกล่าวมีพื้นศาลเปรียบได้กับสวรรค์9 ชั้น หากผู้ใดได้ก้าวเข้ามาสักการะภายในศาลถือว่าได้มาถึงสวรรค์ชั้นที่ 9

5. ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย
ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ต.ท่าฉลอม ไม่ปรากฏว่าก่อสร้างตั้งแต่เมื่อใด แต่มีผู้ศรัทธาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และหนึ่งพิธีกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้คือพิธีลุยไฟ ซึ่งไม่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะทำเฉพาะร่างทรงทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น และผู้ที่ให้ความเคารพสักการะศาลเจ้าแห่งนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวประมงและชาวไทยเชื้อสายจีน

6. โรงเจเชียงเฮียงตั้ว
ศาลเจ้าแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาคือ ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่ท่าฉลอมมีค่อนข้างมากเพราะเป็นเมืองที่อยู่ติดแม่น้ำ เป็นเมืองแรกๆ ที่สามารถขึ้นฝั่งเพื่อเข้าสู่ประเทศสยามเมื่อมีชาวจีนมาตั้งรกรากกันมากขึ้นก็เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศาลเจ้า คงเหมือนกับคนไทยที่สร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมเป็นที่พบปะสังสรรค์ สำหรับศาลเจ้าโรงเจก็กลายเป็นที่ถือศีลของชาวจีนไปด้วย ส่วนการก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ.ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบเพียงว่าแต่ก่อนก็เป็นแค่เพิงหลังคาจากเล็กๆเท่านั้น แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มมีธุรกิจมั่นคงขึ้น เขาก็นำเงินมาบริจาคเพื่อปรับปรุงศาลให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นศาลเจ้าโรงเจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

7. ศาลเจ้ากวนอู
มีการก่อสร้างมานานนับร้อยปีแล้ว ในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวจีนในต.ท่าฉลอมที่มีความเคารพสักการะเทพเจ้ากวนอูที่มีความซื่อสัตย์ได้บูชากัน โดยจัดสร้างเป็นศาลไม้หลังเล็กๆ มุงหลังด้วยจากและภายหลังได้บูรณะใหม่ใช้กระเบื้องในการมุงหลังคา จากนั้นได้มีซ่อมแซมครั้งใหญ่โดยการสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเพื่อความแข็งแรงทนทาน โดยปกติผู้คนจะเข้ามากราบไหว้อยู่เป็นประจำไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะเป็นช่วงใด

8. ศาลเจ้าปุนเถ้ากง (ท่าฉลอม)
ศาลแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2382 เดิมทีเป็นศาลไม้ ฝ้าไม้กระดาน หลังคามุงจาก จากนั้นเมื่อปี พ.ศ.2456 ได้มีการบูรณะศาลใหม่ โดยใช้เสาไม้ ขื่อแปเป็นไม้ระแนง ไม้สักทอง มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ผนังก่ออิฐถือปูน โดยวัตถุประสงค์หลักในการก่อสร้างนั้นเพื่อเป็นที่สักการะแก่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่พำนักอาศัยอยู่ในต.ท่าฉลอม

9. สวน พระโพธิสัตว์กวนอิม ท่าฉลอม
รูปหล่อพระโพธิสัตว์กวนอิมปางเมตตา หล่อจากทองเหลืองปิดด้วยทองคำเปลวขนาดใหญ่ เป็นงานที่สวยงาม ตั้งอยู่ด้านหลังวัดสุทธิวาตวราราม สร้างในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครองราชย์ครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ องค์เจ้าแม่กวนอิมสูง 9.98 เมตร หล่อด้วยโลหะแล้วทาสีสวยงามมาก พระหัตถ์ขวาเทน้ำจากคนโทเป็นน้ำมนต์ ประทับบนฐานดอกบัวมีมังกรโอบโดยรอบอยู่บนภูเขาจำลองสูง 8 เมตร มีถ้ำอยู่ภายในมีรูปเคารพมากมาย

ข้อมูลเพิ่มเติม

เทศบาลนครสมุทรสาคร โทร. +66 3441 1011, +66 3441 1208

ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม (สมุทรสงคราม นครปฐม สมุครสาคร) โทร. +66 3475 2847 – 8

ที่มา:
1. http://thai.tourismthailand.org/see-do/events-festivals/info-page/cat/2/event/3134/
2. http://guide.kapook.com/festival/fs_279.php

Leave a comment