ThaiBuddyTrip.com - เว็บคู่หูของคนชอบเที่ยว

Full Version: ทริป 3 วัน 2 คืน กาญจนบุรี ตอนที่ 3 วัดสมเด็จ ศรีสุวรรณ วังก์วิเวการาม ช่องเขาขาด
You're currently viewing a stripped down version of our content. View the full version with proper formatting.
ก่อนอื่นถ้าท่านใดยังไม่ได้อ่าน ตอนที่ 1 ติดตามได้จาก ทริป 3 วัน 2 คืน กาญจนบุรี ตอนที่ 1 ปราสาทเมืองสิงห์ ถ้ำกระแซ เขื่อนศรีนครินทร์ นะคร๊าบบบ

แอ๊น.. แอ้น.. แอนนนน… เช้าอีกวันแล้ววว..

เช้านี้ต้องรีบตื่นกว่าปกติเพราะเรามีนัดสำคัญที่จะต้องไปใส่บาตรที่สะพานมอญกัน มาเที่ยวสังขละบุรีแล้วใครไม่ได้ตื่นมาใส่บาตรที่สะพานมอญนี่เหมือนยังมาไม่ถึงนะครับ

06.30 น. เราเดินออกจากที่พักก็เห็นบรรยากาศและเดาได้เลยว่าคนน่าจะเยอะแน่เพราะทั้งรถทั้งคนเต็ม 2 ข้างถนนไปหมด เราหยุดซื้อชุดตักบาตรและอาหารแห้ง จากเด็กที่ตั้งโต๊ะขายข้างทางชุดละประมาณ 40 บาท แล้วก็ตรงไปยังสะพานทันที

และแล้ว...นี่คือสิ่งที่เห็นครับ.. นอกจากหมอกจะลงหนาแล้วยังมีปริมาณคนล้นหลาม ประมาณไม่ถูกเลยว่ากี่คน รู้เพียงแต่ว่าแทบไม่มีที่เดินเลย ยังกับอัมพวายามเย็นในวันหยุดยาว หวั่นใจอยู่ว่าถ้าสะพานไม่แข็งแรงมีหวังได้พังลงไปอีกรอบแน่..

[attachment=4706]

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามเราก็หาที่ใส่บาตรจนได้น่า หุหุ

[attachment=4707]

จากนั้นก็ถ่ายรูปเก็บบรรยากาศนิดหน่อย เช้านี้มีหมอกลงหนาพอสมควรทั้งที่เมื่อวานและวันนี้ไม่มีฝนเลย

[attachment=4708]
หลังใส่บาตรและเก็บภาพบรรยากาศยามเช้าเสร็จ ก็ได้เวลาล่องเรือไปชมวัดจมน้ำกันแล้วละครับ เราติดต่อเรือพาไปชม 3 วัด ราคาเหมาเที่ยวไปกลับ 500 บาท ใช้เวลาทั้งล่องเรือและไหว้พระ ถ่ายรูป ทั้งหมดประมาณ 2 ชม. ประกอบด้วยวัดสมเด็จ วัดศรีสุวรรณและวัดวังก์วิเวการาม ตามลำดับ

เรือออกแล้ว ราว 7.00 น. อากาศเย็นกำลังดี

[attachment=4709]

ระหว่างล่องเรือไปก็จะเห็นมีแพของนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่มและพักเป็นแพเดี่ยวกันอยู่หลายแพ ลักษณะที่มองเห็นน่าจะกำลังงัวเงียตื่น สงสัยเมื่อคืนหมดไปหลายกลม 555+

และที่มองเห็นสีเหลืองๆ ตั้งตระหง่านอยู่ไกลๆ นั่นก็คือ “เจดีย์พุทธคยา” ครับ

[attachment=4710]

พระเจดีย์พุทธคยา เป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่กับวัดวังก์วิเวการาม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่นี้ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีสีเหลืองทอง สามารถมองเห็นได้จากแม่น้ำซองกาเลีย ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นเจดีย์ที่มีผู้คนมาสักการะ บูชาองค์เจดีย์ที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจดีย์พุทธคยายังเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและงานเทศกาลเช่น งานวันสงกรานต์

เจดีย์พุทธคยา ตั้งขึ้นอยู่ไม่ไกลจากวัดวังก์วิเวการาม ห่างไปประมาณ 650 เมตร เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 ริเริ่มโดยหลวงพ่ออุตตมะ ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อที่จะจำลองจากเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย มาไว้เป็นศูนย์กลางสำหรับชาวพุทธที่อยู่รวมกันได้โดยไม่แยกเชื้อชาติ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด ได้รับจากเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใส ศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งบริจาคมาทั้งที่เป็น เงินสด ทองคำ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้แรงงานคนมอญทั้งผู้ชายและผู้หญิงในหมู่บ้านประมาณ ​400 คน ช่วยกันเผาอิฐมอญจำนวน 260,000 ก้อน ต่อมา พ.ศ. 2525 เจดีย์ได้ถูกเสริมให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

[attachment=4711]

ส่วนร่องรอยกองดิน 3 กองนี้พี่คนขับเรือซึ่งรับหน้าที่เป็นไกด์ด้วย บอกว่านี่คือ “ด่านเจดีย์ 3 องค์” ในอดีต ก่อนที่จะมีการย้ายไปยังตำแหน่งปัจจุบัน
นั่งเรือชมบรรยากาศ ฟังไกด์บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองสังขละบุรีในอดีตว่าโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ อยู่ตรงไหน สักพักก็มาถึงวัดแรกที่จะไปชมและไหว้พระกันแล้วครับ วัดที่ว่านี้คือ “วัดสมเด็จ” ครับ ซึ่งพี่คนขับเรือบอกว่าไปวัดที่อยู่ไกลก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาวัดที่อยู่ใกล้

แต่… วัดสมเด็จนี้ไม่ได้อยู่ติดหรืออยู่ในน้ำเหมือนวัดอื่นๆ นะครับ ซึ่งหลังจากเรือเทียบท่าแล้วจะต้องเดินขึ้นเนินเขาไปอีกสักพัก น่าจะประมาณ 800 เมตร เห็นจะได้

[attachment=4712]

ว่าแล้วก็ออกเดินกันเลยครับ เดี๋ยวจะสาย

วัดสมเด็จ (เก่า) ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองบาดาล เป็นอุโบสถของวัดสมเด็จ (เก่า) ที่ถูกทิ้งร้าง เมื่อคราวย้ายเมืองสังขละบุรี ภายในอุโบสถมีพระประธานสภาพยังค่อนข้างสมบูรณ์ รอบตัวโบสถ์มีต้นไทรใหญ่ปกคุลมทำให้ดูขลังและเก่าแก่ด้วย

ระหว่างเดินไปวัดสมเด็จ ก็จะมองเห็นวัดอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปครับ ที่เห็นในรูปนั้นคือ “วัดศรีสุวรรณ” ซึ่งเราจะไปเป็นวัดสุดท้ายครับ

[attachment=4713]

ระหว่างทางเดินจะมีชาวมอญวางขายดอกไม้ ธูปเทียน บริการนักท่องเที่ยวใช้สำหรับไหว้พระด้วยครับ

[attachment=4714]

วัดแรกครับ ยังไหวๆ (แฮ่กๆๆ)
[attachment=4715]

ด้านหน้าพระอุโบสถวัดสมเด็จ

[attachment=4716]

เข้าไปไหว้พระด้านในกัน ซึ่งมีสภาพที่ยังค่อนข้างสมบูรณ์เลย

หลังจากนั้นเราก็ล่องเรือกลับมาทางเดิม เพื่อไปยัง “วัดวังก์วิเวการาม” ครับ

[attachment=4717]
ขากลับมานี้นักท่องเที่ยวเริ่มเยอะกว่าขาไปแล้ว เพราะเริ่มสายนิดๆ คนคงเริ่มซาจากใส่บาตรที่สะพานมอญ แล้วนั่งเรือมาไหว้พระกันมากขึ้น

[attachment=4718]

[attachment=4719]

พระอุโบสถวัดวังก์วิเวการามที่หน้านี้น้ำแห้งชัดเจน จนมองเห็นได้ครบส่วนของพระอุโบสถและประตูทางเข้า เป็นภาพที่สวยงามจริงๆ

[attachment=4720]

วัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรีแล้ว ยังเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น "เทพเจ้าแห่งชาวมอญ" วัดวังก์วิเวการาม จึงเกิดจากพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ และเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" วัดจึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ
[attachment=4721]

เข้าไปไหว้พระด้านในพระอุโบสถ คนเยอะมาก

[attachment=4722]

เสร็จแล้วก็กลับออกมาปล่อยปลา ปล่อยตะพาบ เสริมบุญกันเพราะวันนี้เป็นวันพระใหญ่ด้วย (วันวิสาขบูชา)

จากนั้นก็ล่องเรือลัดเลาะต่อไปยังวัดที่ 3 วัดสุดท้าย คือ “วัดศรีสุวรรณ

[attachment=4723]

วัดศรีสุวรรณ นี่อยู่กลางน้ำเลยครับ แม้ช่วงนี้น้ำจะน้อยแต่ก็ยังท่วมถึงฐานพระอุโบสถอยู่ เรือสามารถจอดเทียบท่าที่ฐานพระอุโบสถได้เลย สอบถามจากไกด์บอกว่าน้ำจะเยอะช่วงเดือนตุลาคม ถามว่าเวลาน้ำเยอะจะเยอะขนาดไหน ก็สังเกตได้จากยางรถยนต์ที่ผูกไว้เป็นกันชนสำหรับเรือเทียบในยามที่น้ำเยอะน่ะครับ สูงจริงๆ
[attachment=4724]

[attachment=4725]

ภายในพระอุโบสถวัดศรีสุวรรณ เหลือเพียงฐานประดิษฐานองค์พระพุทธรูปอยู่ด้านใน

[attachment=4726]

ร่องรอยสมัยก่อนที่ยังคงเหลือ โผล่พ้นน้ำให้เห็นในช่วงนี้ที่น้ำน้อย นี่ถ้าเรามาในหน้าน้ำนี่จะไม่ได้เห็นแบบนี้นะเนี่ย หุหุ
เมื่อไหว้พระครบทั้ง 3 วัดแล้ว ก็ได้เวลานั่งเรือกลับมายังสะพานมอญแล้ว

[attachment=4727]

มุมที่มองมาจากเรือจะเห็นว่าสะพานมอญทั้งสูง ใหญ่และยาวมากกก ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างจากไม้ทั้งหมดที่แข็งแรงและรับนักท่องเที่ยวได้มากขนาดนี้

หลังจากล่องเรือชมวัดและไหว้พระประมาณ 2 ชั่วโมง ก็กลับมาที่พักเพื่อทานอาหารเช้า ก่อนที่จะเช็คเอาท์ออกจาก “บ้านสะพานรัก” พร้อมกับโบกมือลาสังขละบุรีสำหรับทริปนี้

[attachment=4728]

เมื่อออกจากสังขละบุรี ก็มุ่งหน้ากลับตัวกาญจนบุรี แต่ก็ยังมีอีกที่หนึ่งที่อยู่ในเป้าหมายพิกัดทริปนี้เป็นพิกัดสุดท้าย นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ “ช่องเขาขาด

[attachment=4729]
[attachment=4730]

เข้าไปข้างในกันเลยครับ

[attachment=4731]

[attachment=4732]

พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด เป็นสถานที่เที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ. 2485 - 2488 โดยมีทั้งส่วนที่เป็นนิทรรศการภาพถ่าย สไลด์ มัลติมีเดีย การจัดแสดงอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของเชลยศึกสงคราม รวมถืงการเปิดให้เข้าชมสถานที่จริงบริเวณช่องเขาขาดที่เป็นเส้นทางการสร้างรถไฟสู่ประเทศพม่า
พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดนี้ตั้งอยู่บริเวณกองการเกษตรและสหกรณ์ กองกำลังทหารพัฒนา อำเภอไทรโยค ห่างจากตัวเมืองกาญจน์ประมาณ 80 กิโลเมตร สามารถขับรถไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 323 สู่อำเภอทองผาภูมิ สังเกตได้เมื่อขับรถเลยน้ำตกไทรโยคน้อยไปประมาณ 20 กิโลเมตร ทางเข้าพิพิธภัณฑ์จะอยู่ทางซ้ายมือ ต้องแลกบัตรก่อนเข้า ไม่เสียค่าบริการครับ

[attachment=4733]

[attachment=4734]

เราลองเดินลงบันได คิดว่าจะไปดูสถานที่จริงสักนิ๊ด.. แต่ดูแล้ววันนี้น่าจะไม่เหมาะ อันเนื่องมาจากบ่ายแล้ว ค่อนข้างล้า หมดแรง เลยลงไปเก็บบรรยากาศนิดหน่อยแล้วกลับขึ้นมาครับ เอาไว้โอกาสหน้าค่อยว่ากันใหม่ 555+

หลังจากออกจากพิพิธภัณฑ์ ขับรถมาสักพัก มื้อเที่ยงก็เริ่มถามหา มื้อเที่ยงวันนี้เราฝากท้องกันที่ร้าน “ครัวลูกสาว” ครับก่อนกลับสู่ภูมิลำเนา กลับไปทำงาน หาเงินเตรียมตัวไว้ทริปต่อไป อิอิ

[attachment=4735]

จบทริปโดยสวัสดิภาพครับ สอบถาม แนะนำ หรือติชมกันได้นะครับ ไว้มีทริปหน้าแล้วจะเอามาเขียนรีวิวให้ติดตามกันอีกครั้งครับ บ๊าย..บาย

ขอขอบคุณเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลสนับสนุนการท่องเที่ยวและเขียนรีวิวทริปนี้ครับ
http://www.kanchanaburi.co
Reference URL's